Accessibility Tools

ศาลอุทธรณ์
The Court of Appeal

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลอุทธรณ์

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลอุทธรณ์

          การปฏิรูปศาลเริ่มด้วยการประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม โดยให้รวมศาลในกรุงเทพมหานครมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมแต่เพียงแห่งเดียว และให้ยกศาลฎีกาเป็นศาลอุทธรณ์คดีหลวง และยกคดีความทั้งปวงที่ค้างพิจารณาอยู่มาพิจารณาด้วย ให้ยกคดีความชั้นอุทธรณ์ที่หัวเมืองส่งมาพิจารณาที่ศาลกรมมหาดไทย ศาลกรมพระกลาโหม และศาลกรมท่ากลางมาพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ส่วนคดีในศาลชั้นต้นให้แยกตามลักษณะคดีว่าเป็นคดีแพ่งหรืออาญา โดยให้ยกคดีอาญาจากศาลต่าง ๆ มาพิจารณาที่ศาลพระราชอาญาเพียงแห่งเดียว สำหรับศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งให้รวมศาลแพ่งเกษม ศาลกรมวัง ศาลกรมนา เข้าด้วยกันและเรียกว่า ศาลแพ่งเกษม ให้รวมศาลแพ่งกลาง ศาลกรมท่ากลาง ศาลกรมท่าซ้าย ศาลกรมท่าขวา ศาลธรรมการ ศาลราชตระกูล เข้าด้วยกันและเรียกว่า ศาลแพ่งกลาง ให้รวมศาลสรรพากร ศาลมรดก เข้าด้วยกันและเรียกว่า ศาลสรรพากร ส่วนศาลต่างประเทศที่มีข้อผูกพันกับต่างประเทศให้คงอยู่ตามเดิม          

          ต่อมาคดีในศาลอุทธรณ์คดีหลวงเหลือน้อยจึงให้ยุบรวมกับศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) จึงมีศาลชั้นอุทธรณ์เพียงศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ศาลเดียว และเรียกว่า "ศาลอุทธรณ์" และเมื่อจัดตั้งศาลอุทธรณ์ขึ้นแล้วได้โอนการพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์จากศาลต่างประเทศจากเสนาบดีว่าการต่างประเทศมาให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษานับแต่นั้นมา

           เมื่อจัดตั้งศาลในกรุงเทพมหานครแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศาลในหัวเมืองต่าง ๆ ต่อไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเคยขึ้นต่อกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมท่า มาขึ้นต่่อกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด เว้นแต่เมืองนนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ และสมุทรปราการ ที่ขึ้นกับกระทรวงนครบาล ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) แล้วจัดตั้งมณฑลขึ้น โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งข้าหลวงพิเศษ ประกอบด้วย พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (พระยศในสมัยนั้น) ขุนหลวงพระไกรสี (เปล่ง เวภาระ) และมิสเตอร์ อาร์ เย เกิกปาตริก ร่วมกับข้าหลวงเทศาภิบาล และผู้ว่าราชการเมืองในมณฑล จัดตั้งศาลมณฑล ศาลเมือง และศาลแขวง ตามพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ. 114 ดังนั้น คดีอุทธรณ์คำพิพากษาศาลมณฑลในหัวเมือง ข้าหลวงพิเศษจึงเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอุทธรณ์ เรียกว่า "ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ" ส่วนศาลอุทธรณ์เดิม เรียกว่า "ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ"

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวม ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ และศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษ เป็นศาลเดียวกัน เรียกว่า "ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ" มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอุทธรณ์ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา

 

ที่ทำการศาลอุทธรณ์อดีต ถึง ปัจจุบัน

ศาลอุทธรณ์ อาคาร "ศาลสถิตย์ยุติธรรม"

พ.ศ. 2434 - พ.ศ. 2486

ศาลอุทธรณ์ อาคารศาลยุติธรรม ถนนราชินี

พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2535

ศาลอุทธรณ์ อาคารศาลอุทธรณ์ ถนนรัชดาภิเษก

พ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 26 มกราคม พุทธศักราช 2495 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังศาลอุทธรณ์ ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมศาลอุทธรณ์ ณ ที่นั้น พระมนูเวทย์วิมลนาท (มนูเวทย์ สุมาวงศ์) อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พร้อมด้วยผู้พิพากษาตั้งแถวรับเสด็จ จากนั้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เบิกผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ แล้วเชิญเสด็จทอดพระเนตรห้องพิจารณาคดีศาลอุทธรณ์ 

  

(ลายพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในสมุดเยี่ยมศาลอุทธรณ์)

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารศาลอุทธรณ์ในปัจจุบัน

 

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2535 เวลา 14.00 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (หลังปัจจุบัน) ตามคำกราบบังคมทูลของนายวิเชียร วัฒนคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2532 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์

(ลายพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมุดเยี่ยมศาลอุทธรณ์)

 

ข้อมูล และภาพจากหนังสือ 119 ปี ศาลอุทธรณ์